การเหยา

ชาวภูไทบ้านห้วยหีบมีความเชื่อเรื่องไสยศาสตร์ นับถือผู้เฒ่าผู้แก่ ผู้สูงอายุ ผีเจ้าที่เจ้าทาง ผีปูตา ผีตาแฮก ผีบรรพบุรุษ เมื่อเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะไปหาหมอทางไสยศาสตร์ หมอเหยา หมอผีหมอเสี่ยงของ เสี่ยงไข้ รักษาโดยการเข้าพิธีเสี่ยงทาย ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า หมอเหยา ในปัจจุบันพิธีกรรมดังกล่าวยังคงหลงเหลือและกระทำกันอยู่ตามความเชื่อเดิม

ประวัติวัตถุจัดแสดง

    "เหยา” เป็นความเชื่อ และพิธีกรรมหนึ่งในการรักษาสุขภาพของคนในชุมชนภูไทที่สืบทอดมาแต่ครั้งบรรพกาล อันสืบเนื่องมาจากความเชื่อดั้งเดิมที่นับถือผี เป็นการทำพิธีเพื่อติดต่อระหว่างผีกับคน ให้ผีช่วยเหลือแก้ปัญหาความเดือดร้อนโดยเฉพาะการเจ็บไข้ได้ป่วย มูลเหตุที่ต้องมีการเหยา มาจากสภาพสังคมดั้งเดิมของชาวไทยที่ไม่มีสถานพยาบาลรับรองความเจ็บป่วย ก่อให้เกิดความจำเป็นที่ชาวไทยต้องดิ้นรนหาที่พึ่งยามเจ็บไข้ได้ป่วย ส่วนใหญ่นั้นใช้สมุนไพรพื้นบ้านที่มีในท้องถิ่นในการรักษาและดูแลสุขภาพ ในอดีตการรักษาโรคภัยไข้เจ็บจำเป็นต้องอาศัยผีเป็นผู้วินิจฉัยโรคบอกวิธีรักษา ในปัจจุบันแม้มีการแพทย์แผนใหม่ที่สามารถวินิจฉัยโรคได้ถูกต้อง แต่โรคบางโรคหรืออาการบางอย่างรักษาไม่หาย ผู้ป่วยที่ไม่มีที่พึ่งจึงจำเป็นต้องพึ่งพิธีกรรม อย่างน้อยจะทำให้จิตใจผู้ป่วยดีขึ้น จึงจัดเป็นพิธีกรรมที่สร้างขวัญและกำลังใจกับผู้ป่วยเป็นหลัก เมื่อผู้ป่วยอยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตหรือผู้ป่วยหายจากโรคและอาการเจ็บป่วยก็จะทำพิธีการเหยา ผู้ที่ทำพิธีการเหยาเรียกว่า หมอเหยาเป็นผู้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษโดยปู่ย่า ตายาย แม่ เป็นหมอเหยามาก่อนลูกก็จะสืบทอดการเป็นหมอเหยา