บาตร

บาตรของบ้านบาตรจะเป็นงานที่เรียกว่า “งานแฮนด์เมด” เป็นงานที่ทําด้วยมือมีกระบวนการทําแบบดั้งเดิม คือ การต่อเหล็กและตีขึ้นเป็นรูปบาตรด้วยมือ นับเป็นงานบุของไทยแขนงหนึ่งเรียกว่า “บาตรบุ”  การทําบาตรด้วยมือมีความประณีตอย่างมากและใช้เวลาทํานาน ประกอบด้วยโลหะ 8 ชิ้น มีโครงบาตร 1 ฝาข้าง 2 หน้าวัว 4 และขอบบาตร 1 โดยบาตรบ้านจะต้องมีตะเข็บแผ่นประกอบกันต้องมีส่วนต่อและเสี้ยวเว้า 8 ชิ้นที่ถูกต้องตามพระธรรมวินัยของพระพุทธศาสนาซึ่งอนุญาตไว้ 2 ชนิด คือ บาตรดินเผาและบาตรเหล็ก 
ขั้นตอนการทำบาตรมี 7 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1 ขั้นตอนของการทำขอบบาตร ขอบบาตรนั้นจะเป็นตัวกำหนดว่าบาตรจะมีขนาดและรูปทรงอย่างไร การขึ้นรูปขอบบาตรจะต้องเริ่มจากการนำเหล็กมาตัดตามขนาดของบาตรแล้วนำมาตีเป็นวงกลม
ขั้นตอนที่ 2 ขั้นตอนการประกอบกง จะการนำแผ่นเหล็กมาตัดเป็นรูปกากบาทซึ่งเรียกว่า “กง” จากนั้นนำมาดัดงอขึ้นรูปแล้วนำมาติดกับขอบบาตร ต่อมาจะนำมาวัดและตัดเป็นแผ่นเหล็กรูปร่างเหมือนใบหน้าวัว ซึ่งจะเป็นแผ่นเหล็กรูปขนาดพอดีกับช่องว่างของกงเหล็กทั้ง 4 ด้าน ติดเข้ากับกงบาตร ซึ่งเมื่อประกอบกันแล้วจะได้บาตรที่มีตะเข็บทั้งหมด 8 ชิ้น
ขั้นตอนที่ 3 ขั้นตอนการแล่น ซึ่งจะเป็นการเชื่อมรอยตะเข็บให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยการใช้ผงทองแดงและน้ำยาประสานทองตามเส้นตะเข็บก่อน และหลังจากนั้นนำบาตรไปเผาเพื่อให้เหล็กประสานเป็นเนื้อเดียวกัน
ขั้นตอนที่ 4 ขั้นตอนการลายหรือการออกแบบรูปทรง ซึ่งจะนำบาตรที่แล่นแล้วมาเคาะให้ได้รูปทรงตามที่ต้องการโดยใช้ค้อนลาย
ขั้นตอนที่ 5  ขั้นตอนการตี โดยช่างจะใช้ค้อนเหล็กในการตีบาตรให้ออกมาเรียบเสมอกัน แล้วนำมาตีลายเพื่อให้ได้ตามรูปทรงที่ต้องการมากขึ้น หลังจากนั้นจึงนำบาตรไปเจียรและตะไบตกแต่งให้สวยงาม
ขั้นตอนที่ 6 ขั้นตอนการสุม เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสนิมจะทำโดยการบ่มหรือรมควัน แต่ปัจจุบันนิยมใช้น้ำมันกันสนิมมาทาทั่วบาตรแทน
ขั้นตอนที่ 7 ขั้นตอนการทำสี จะใช้การรมดำโดยวิธีการเผาให้เหล็กร้อนจนกลายเป็นสีดำและจะเผาด้วยถ่านไม้โกงกาง หลังจากนั้นจึงแกะสลักเป็นลวดลายไทย และทาเคลือบเพื่อให้พร้อมใช้งาน

ขนาด

โดยเอกลักษณ์บาตรของบ้านบาตรคือมีตะเข็บและแผ่นประกอบกันต้องมีส่วนต่อและเสี้ยวเว้าให้ได้ 8 ชิ้นตามพระวินัยบัญญัติ มีขนาด 7-8 นิ้ว และ 9-10 นิ้วโดยมีทั้งหมด 5 รูปทรง ได้แก่ “ทรงดั้งเดิม” ฐานป้าน ก้นแหลมจึงไม่สามารถวางกับพื้นได้ ต้องวางบนฐานรองบาตร  “ทรงตะโก” ฐานมีลักษณะคล้ายทรงไทยเดิม แต่ก้นมนย้อย สามารถวางบนพื้นได้  “ทรงมะนาว” รูปร่างมน ๆ คล้ายกับผลมะนาวแป้น  “ทรงลูกจัน” เป็นบาตรทรงเตี้ย ลักษณะคล้ายทรงมะนาวแต่เตี้ยกว่า  “ทรงหัวเสือ” รูปทรงคล้ายกับทรงดั้งเดิมแต่ส่วนฐานตัดเล็กน้อย สามารถวางบนพื้นได้