แม่กุญแจและลูกกุญแจโบราณ


แม่กุญแจและลูกกุญแจโบราณ เป็นเครื่องสำหรับใส่ประตูหน้าต่างเป็นต้น เพื่อยึดหรือสลักไม่ให้เปิดเข้าออกได้ เวลากดหรือไขออกมีเสียงลั่นดังกริ๊ก มีลูกไข เรียกว่า ลูกกุญแจ, ประแจ โดยวัตถุชิ้นนี้มีขนาดยาว 11.7 ซม. กว้าง 2.0 ซม. สภาพสมบูรณ์ เป็นแม่กุญแจและลูกกุญแจโบราณไม่ทราบอายุที่แน่ชัด มีลักษณะเป็นแม่กุญแจที่มีลักษณะเป็นรูปวงรี ทำจากเหล็กและมีรูสำหรับเสียบลูกกุญแจ ในอดีตใช้ล็อคคล้องกับโซ่ประตูวิหารวัดมงคลทุ่งแป้ง ซึ่งเป็นวัดที่สันนิษฐานว่ามีอายุมากกว่า 500 ปีขึ้นไป ภายหลังเมื่อมีการบูรณปฏิสังขรณ์ตามสภาพกาลเวลา เจ้าอาวาสรุ่นก่อนจึงได้มีการเก็บรักษาชิ้นส่วนเดิมเอาไว้ แต่คาดว่าไม่ใช่ของเดิมตั้งแต่เดิม ต่อมาพระดอนศักดิ์ กตปุญโญ (เจ้าอาวาสวัดมงคลทุ่งแป้งองค์ปัจจุบัน) จึงได้นำมาจัดแสดง ปัจจุบันแม่กุญแจและลูกกุญแจโบราณ ได้จัดเก็บไว้ที่ ตู้จัดแสดงหมายเลข 3 วิหารวัดมงคลทุ่งแป้ง


ตุ้มหูนาคโบราณ


ตุ้มหู หรือต่างหูนาคโบราณ เป็นเครื่องประดับบริเวณติ่งหูของสตรี มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 ซม. หนา 0.7 ซม. สูง 1.8 ซม. สภาพสมบูรณ์ แต่พบเพียงแค่ข้างเดียวเท่านั้น ไม่ทราบอายุและเจ้าของเดิมที่แน่ชัด ลักษณะรูปทรงกลมแบน ด้านหลังมีส่วนสำหรับสอดเข้ารูหูติดอยู่ลักษณะขดเป็นวงโค้งปลายบิดงอขึ้น ทำจากนาก ซึ่งเป็นโลหะผสมระหว่างทองแดง ทองคำและเงิน โดยเจ้าอาวาสวัดมงคลทุ่งแป้งไม่ทราบว่าองค์ใด ได้พบตุ้มหูนาคชิ้นนี้ในบริเวณของวัด และเห็นว่าเป็นตุ้มหูที่ทำมาจากนาคซึ่งพบเห็นได้ยากในปัจจุบัน จึงได้เก็บรักษาไว้ ภายหลังพระดอนศักดิ์ กตปุญโญ (เจ้าอาวาสวัดมงคลทุ่งแป้งองค์ปัจจุบัน) ได้นำมาจัดแสดง ปัจจุบันจัดแสดงภายในตู้หมายเลข 3 วิหารวัดมงคลทุ่งแป้ง


แหวนแก้วโป่งข่ามสมัยโบราณ


แหวนแก้วโป่งข่ามสมัยโบราณ ขนาดหัวแหวน เส้นผ่านศูนย์กลาง 0.7 เซนติเมตร ตัวแหวน เส้นผ่านศูนย์กลาง 1.8 เซนติเมตร ลักษณะตัวแหวนทำจากทองเหลือง ลักษณะกลมเกือบรี หัวแหวนทำจากแก้วโป่งข่าม (ควอซต์) ประเภทแก้วแร่ หรือแร่เขี้ยวหนุมาน ใช้สวมใส่เพื่อเป็นเครื่องรางนำโชคของคนล้านนาเชื่อว่า ช่วยปกป้องรักษาคุ้มภัย ส่งเสริมให้ครอบครัวร่มเย็นเป็นสุข ส่งเสริมการทำมาค้าขาย ซึ่งแก้วโป่งข่ามเป็นหินแก้วตระกูลแร่ควอทซ์ (Quartz) หรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่าแร่เขี้ยวหนุมาน โดยตามมาตรความแข็งของโมส์ (Moh’s scale of hardness) ควอทซ์มีค่าความแข็งอยู่ในอันดับที่ 7 (ความแข็งมี 10 อันดับ เพชร แข็งที่สุด คืออันดับ 10) โดยลักษณะของควอทซ์จะมีความโปร่งใส ไปจนถึงทึบแสง และมีหลายสี ควอทซ์จึงจัดเป็นรัตนชาติตระกูลใหญ่ตระกูลหนึ่ง และหลายพื้นที่ในประเทศไทยพบควอทซ์หลายชนิด แต่ชนิดที่นำมาทำแก้วโป่งข่ามนั้น พบมากที่ อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง แก้ว ตามความหมายโดยทั่วไป หมายถึง หินใสแลลอดเข้าไปข้างในได้ โป่ง หมายถึง ลักษณะของสิ่งที่พองด้วยลม หรือแก๊ส เช่น ดินโป่ง (ดินที่มีเกลือ) เป็นต้น ข่าม เป็นภาษาถิ่น หมายถึง อยู่ยงคงกระพัน แก้วโป่งข่าม จึงมีความหมาย คือ หินใสที่มองเล็ดลอดเข้าไปข้างในและมีความอยู่ยงคงกระพัน โดยเกิดจากการผุดขึ้นมาจากช่องดิน สำหรับประวัติวัตถุชิ้นนี้ เจ้าอาวาสวัดมงคลทุ่งแป้งไม่ทราบว่าองค์ใด ได้พบแหวนแก้วโป่งข่ามชิ้นนี้ในบริเวณของวัด และเห็นว่าเป็นแก้วโป่งข่ามที่หาได้ยากในปัจจุบัน จึงได้เก็บรักษาไว้ ภายหลังพระดอนศักดิ์ กตปุญโญ (เจ้าอาวาสวัดมงคลทุ่งแป้งองค์ปัจจุบัน) ได้นำมาจัดแสดง ปัจจุบันจัดแสดงภายในตู้หมายเลข 3 วิหารวัดมงคลทุ่งแป้ง