อโศกน้ำ (โสก)

ต้นโสก หรือ ต้นโศก มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในประเทศอินเดีย จัดเป็นไม้ยืนต้นไม่ผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง ออกดอกเป็นช่อแบบช่อเชิงหลั่นตามซอกใบและที่ปลายกิ่ง ดอกเป็นสีแสดจนถึงสีแดง และดอกส่งกลิ่นหอม ต้นโสกพบเป็นพืชเด่นบริเวณ“น้ำตกธารปลิว” บ้านธารปลิว ตำบลทุ่งหว้า อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานธรณีโลกสตูล กลายเป็นน้ำตกที่หอมที่สุดในโลกในช่วงเดือนดอกโสกสะพรั่ง ประมาณเดือน มกราคม-กุมภาพันธ์ นอกจากความหอมของดอกโสกแล้ว โสกยังเป็นพืชสมุนไพรและมีการนำส่วนของต้นโสกไปประกอบอาหารอีกด้วย ดอก เปลือกและรากของต้นโสกมีสรรพคุณทางยา ในส่วนของดอก ดอกโสกมีรสหอมเปรี้ยว มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงธาตุ ดอกใช้เป็นยาแก้ไอ หรือใช้กินเป็นยาขับเสมหะ ในขณะที่เปลือกและราก แพทย์พื้นบ้านในอินเดียจะนิยมใช้เปลือกและราก นำมาปรุงเป็นยาบำรุงโลหิต ไม่เพียงเท่านั้น ใบอ่อนและดอกสามารถนำมาใช้ประกอบอาหาร ทำแกงส้ม ยำ หรือรับประทานเป็นผักสดจิ้มกับน้ำพริกก็ได้ ต้นโสกถูกนำมาปลูกเป็นไม้ประดับทั่วไป ปลูกตามวัด ปลูกประดับอาคารสถานที่ ปลูกเป็นร่มเงาตามสวนสาธารณะต่าง ๆ เพื่อปรับภูมิทรรศน์ เพราะมีทรงพุ่มสวย และดอกมีสีสันสวยงาม แต่ควรปลูกไว้ริมน้ำ เพื่อเป็นฉากหลังของพื้นที่หรือให้ร่มเงา แต่จะไม่นิยมปลูกตามบ้าน ในส่วนของความเชื่อนั้น แท้จริงแล้วต้นโสก หรือ "อโศก" จะหมายถึง ความไม่มีโศกเศร้า เป็นสัญลักษณ์ของความรักที่ไม่โศกเศร้า เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว ซึ่งในทางพุทธศาสนาจะเรียกว่า "ความเมตตา" ไม่เกี่ยวกับคำว่า "โศก" ที่หมายถึงของโศกเศร้าเลย หากมาเที่ยวจังหวัดสตูลและมีโอกาสมาเยี่ยมเยือนอำเภอทุ่งหว้า ขอแนะนำให้ไปชมไม้สารพัดประโยชน์พร้อมกับไปพิสูจน์ความหอมของโสก และยลความงามของน้ำตกธารปลิว ย้ำว่าห้ามพลาดทีเดียว (อ้างอิง ; 1.หนังสือสมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคเหนือ. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “โสก”. หน้า 186. / 2.สำนักงานหอพรรณไม้ สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช, กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช. “โสก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.dnp.go.th/botany/. [06 ต.ค. 2014]. / 3.หนังสือ Flora of Thailand Volume 4 Part 1. (พญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ). “โสกน้ำ”. หน้า 97. / 4.ฐานข้อมูลพรรณไม้ที่ใช้ในงานภูมิสถาปัตยกรรม ศูนย์ความรู้ด้านการเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. “โสกน้ำ” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : agkc.lib.ku.ac.th. [06 ต.ค. 2014]. / 5.มูลนิธิหมอชาวบ้าน. นิตยสารหมอชาวบ้าน เล่มที่ 310 คอลัมน์ : ต้นไม้ใบหญ้า. (เดชา ศิริภัทร). “โศก : สัญลักษณ์ของความรักจากตะวันออก”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : www.doctor.or.th. [06 ต.ค. 2014]. / 6.ผักพื้นบ้าน ในประเทศไทย กรมส่งเสริมการเกษตร, สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง. “อโศกน้ำ”. [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก : area-based.lpru.ac.th/veg/. [06 ต.ค. 2014]. / 7.Flora of Thailand Volume 4 Part 1, Page 97)


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Saraca indica L.

ชื่อท้องถิ่น = กะแปะห์ไอย์ ชุมแสงน้ำ ตะโดลีเต๊าะ ส้มสุกโสก อโศกน้ำ