หลุมพอ

ไม้หลุมพอเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ เป็นไม้ที่เป็นที่ต้องการของตลาดมีราคาแพง เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไปบริเวณน้ำตกธารสวรรค์ แต่ไม่สามารถเข้าไปตัดมาใช้งานได้หรือนำมาแปรรูปขายได้เนื่องจากอยู่ในเขตอุทยานธรณีโลกสตูลหรือสตูลจีโอปาร์ค แต่ปัจจุบันมีการนำมาปลูกเพื่อเชิงพาณิชย์โดยการขายไม้ต้น หรือแปรรูปขาย มีราคาสูงมาก เพราะเป็นไม้ที่มีความทนและมีลายไม้ที่สวย การใช้ประโยชน์และสรรพคุณ ไม้หลุมพอเป็นไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงชนิดหนึ่งของประเทศไทย และเป็นไม้ที่ตลาดมีความต้องการมาก มีการนำไม้หลุมพอมาใช้ประโยชน์ในการก่อสร้างอาคารบ้านเรือน ทำสะพาน เสา หมอนรางรถไฟ เกวียน เครื่องเรือน เป็นไม้ที่สวยงามดี เหมาะสำหรับทำเครื่องเรือน ทำพื้น รอด ตง ขื่อ อกไก่ ไม้บุผนังที่สวยงาม ทำลูกประสัก โครงเรือใบเดินทะเล แจว พาย กรรเชียง เสากระโดงเรือ ไถ คราด ครก สาก กระเดือง พันสีขาว ตัวถังรถ ด้ามเครื่องมือ ทำหูก ด้ามหอก ไม้สำหรับกลึง แกะสลัก กั้นบ่อน้ำ ร่องน้ำและกังหันน้ำ ทำรางแร่ พานท้ายและรางปืน เนื้อไม้มีลักษณะคล้ายไม้มะค่าโมง ควรใช้แทนกันได้


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Intsia palembanica Miq.

ชื่อท้องถิ่น = กะลุมพอ หลุมพอ

หมายเหตุ = หลุมพอเป็นไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดใหญ่ สูงประมาณ 25 – 40 เมตร โคนต้นมักจะเป็นพูพอนสูงใหญ่ ลำต้นเปลาตรง เปลือกเรียบ หรือตกสะเก็ดเป็นแผ่นกลมบาง ๆ มีสีต่าง ๆ กัน ที่พบบ่อย ๆ มักจะออกสีชมพูอมน้ำตาล หรือเทาอมชมพู ลักษณะเนื้อไม้ สีแดงอมน้ำตาล เป็นมันเลื่อม เสี้ยนตรง เนื้อหยาบ แข็ง เหนียว แข็งแรง และทนทานมาก เพรียงไม่ค่อยกิน ไสกบตบแต่งไม่ค่อยยาก ขัดชักเงาได้ดี ใบ ออกเป็นช่อ มีใบย่อย 4 คู่ ลักษณะใบรูปหอกแกมรูปไข่ กว้าง 5 ซม. ยาว 9 ซม. ปลายสอบแหลมเว้าตื้น ๆ ตรงปลายสุดเล็กน้อย โคนกลม เนื้อเกลี้ยงเป็นมัน ดอก สีเหลืองอ่อน ออกบนช่อสีเชียวอ่อนอมเทา ยาว 5 – 10 ซม. ผล เป็นฝัก กว้าง 6 – 8 ซม. ยาว 15 – 40 ซม. เมล็ด รูปกลมแบน ลักษณะคล้ายลูกสะบ้า เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 ซม. ความยาวเฉลี่ย 5 ซม. และความหนาเฉลี่ย 0.8 ซม. น้ำหนักของเมล็ดแห้งเฉลี่ยเมล็ดละ 13 กรัม เปลือกเมล็ดแข็งหนามาก ผิวด้านนอกเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ดูดซึมน้ำยากมาก จากลักษณะของการขึ้นของเมล็ดทำให้เมล็ดที่ร่วงบนดินมักจะค้างอยู่ในป่าจึงจะงอก

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง

สถานที่ = น้ำตกธารสวรรค์

จังหวัด = สตูล

อำเภอ = ทุ่งหว้า

ตำบล = ทุ่งหว้า