เพกา

ต้น เป็นไม้ต้นกึ่งผลัดใบ สูง 5-12 เมตร เรือนยอดเล็ก กิ่งเปราะหักง่าย แตกกิ่งก้านน้อย เปลือกต้น สีน้ำตาลครีมอ่อน หรือเทาอ่อน แตกเป็นสะเก็ดสี่เหลี่ยม ใบ ใบประกอบแบบขนนก 3 ชั้น ปลายคี่ ก้านใบยาว 0.5-2 เมตร ใบย่อยเรียงตรงข้ามกันอยู่บริเวณปลายกิ่ง ใบย่อยรูปไข่ หรือรูปไข่แกมวงรี กว้าง 4-8 เซนติเมตร ยาว 6-12 เซนติเมตร ปลายใบยาว ขอบใบเรียบ ฐานใบสอบแคบ ใบเกลี้ยง หรือมีขนสีขาวสั้นๆด้านล่าง ก้านใบย่อยยาว 5-8 มิลลิเมตร เส้นใบแบบตาข่าย ดอก ช่อดอกขนาดใหญ่แบบกระจะ ออกดอกที่ปลายยอดเป็นกระจุก มีดอกย่อย 20-35 ดอก ก้านช่อดอกยาว 60-180 เซนติเมตร ดอกย่อยขนาดใหญ่ 8-12 เซนติเมตร มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ยาว 2-4 เซนติเมตร เชื่อมติดกันเป็นรูปทรงกระบอก ปลายไม่แยกเป็นกลีบอย่างเด่นชัด กลีบดอกสีนวลแกมเขียว หนา ขอบย่น ไม่มีพู หรือพูไม่เท่ากัน ด้านในมีขนหนาแน่น โคนกลีบดอกเป็นหลอดสีม่วงแดงยาว 2-4 เซนติเมตร ดอกบานตอนกลางคืน มีกลิ่นสาบฉุน และร่วงตอนเช้า เกสรตัวผู้ 5 อัน ติดกับหลอดดอก โคนก้านมีขน เกสรตัวเมียมี 1 อัน รังไข่เหนือวงกลีบ ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม - เดือนกรกฎาคม ผล เป็นฝักแบนรูปดาบ โค้งเล็กน้อยที่ฐาน มีสันเล็กๆที่ด้านข้าง ห้อยอยู่เหนือเรือนยอด ฝักกว้าง 6-10 เซนติเมตร ยาว 30-120 เซนติเมตร สีน้ำตาลเข้ม เมื่อแก่จะแตกเป็น 2 ซีก เมล็ดแบนสีขาว ขนาด 4-8 เซนติเมตร มีปีกบางโปร่งแสง ช่วยให้ล่องลอยไปตามกระแสลมได้ สรรพคุณของเพกาและการใช้ประโยชน์ เปลือกต้น เป็นยาสมานแผล บำรุงโลหิต แก้โรคบิด ท้องร่วง ใช้รักษาฝี และอาการบวม ฟกช้ำ ราก ใช้เป็นยาบำรุงธาตุ ช่วยให้เจริญอาหาร แก้ท้องร่วง และรักษาอาการอักเสบ ฟกช้ำ ใบ แก้ปวดท้อง ขับลม บรรเทาอาการปวดไข้ ฝักอ่อน ช่วยบำรุงธาตุ ขับเสมหะ บรรเทาอาการไอ เมล็ด ใช้เป็นยาถ่าย ยาระบาย แก้ไอ ขับเสมหะ


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Oroxylum indicum

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง