ตะแบกแดง

ต้น เป็นไม้ยืนต้นกึ่งผลัดใบ ขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูง 15-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมแผ่กว้างแต่ค่อนข้างโปร่ง แตกกิ่งก้านสาขาออกรอบต้น เปลือกลำต้นเกลี้ยงเป็นสีเทาอมเหลือง หรือสีน้ำตาลอมเทา มีรอยขรุขระเป็นหลุมตื้น ๆ เกิดจากสะเก็ดแผ่นบาง ๆ ของเปลือกที่หลุดร่วงไป เปลือกชั้นในเป็นสีชมพูอมม่วง ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ สลับกับชั้นลายเส้นสีขาว โคนต้นเป็นพูพอนชัดเจน ตามกิ่งอ่อนมีขนสีน้ำตาลสาก ๆ ขึ้นหนาแน่น ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกัน บางทีออกเรียงเกือบตรงข้าม ใบเป็นรูปไข่หรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก กว้าง 3-6 เซนติเมตร ยาว 7-14 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ฐานใบแหลม ขอบใบเรียบหรือเป็นคลื่นเล็กน้อย เห็นตาง่ามชัดเจน แผ่นใบเป็นสีเขียว ท้องใบจะมีสีจางกว่าด้านหลังใบ หลังใบเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ส่วนท้องใบมีขนสีน้ำตาลสาก ๆ ขึ้นหนาแน่น ก้านใบยาวไม่เกิน 1 เซนติเมตร ผลัดใบช่วงเดือนธันวาคม-เดือนมีนาคม และแตกใบใหม่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เดือนพฤษภาคม ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบเป็นกลุ่มย่อย ตามปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็ก เมื่อบานเต็มที่จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 0.5-1.5 เซนติเมตร มีกลีบดอก 6 กลีบ แยกจากกันเป็นอิสระ โคนกลีบติดกับผนังด้านในของถ้วยกลีบเลี้ยง โคนกลีบดอกแคบ ส่วนปลายกลีบจะเป็นแผ่นกลม ๆ สีขาวหรือสีม่วงอมชมพูอ่อน กลีบเลี้ยงมี 6 กลีบ โคนกลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ปลายแยกออกเป็น 6 แฉก มีขนสีสนิมขึ้นปกคลุม ดอกมีเกสรเพศผู้จำนวนมาก ออกดอกช่วงเดือนมีนาคม-เดือนพฤษภาคม ผล เป็นผลแห้ง เมื่อแก่จะแตกออกเป็น 6 แฉก ถ้วยกลีบเลี้ยงจะหุ้มโคนของผล ผลมีขนาดเล็ก เป็นรูปไข่ ยาว 0.8-1 เซนติเมตร ผลแก่เป็นสีน้ำตาล แข็ง ภายในมีเมล็ดจำนวนมาก มีปีก เมล็ดเป็นสีน้ำตาลเข้ม ผลแก่ช่วงเดือนตุลาคม-เดือนธันวาคม สรรพคุณของตะแบกแดงและการใช้ประโยชน์ เปลือก เป็นยาแก้ลงแดง แก้บิดและมูกเลือด เนื้อไม้เป็นมันเหนียวและแข็งแรง สามารถนำมาใช้ทำสิ่งปลูกสร้างที่ต้องการรับน้ำหนักมาก ๆ ใช้ในงานก่อสร้างอาคารบ้านเรือน เครื่องมือกสิกรรม เครื่องเรือน และนำมาทำเป็นเชื้อเพลิง นอกจากนี้ในปัจจุบันยังนิยมนำมาปลูกเป็นไม้ประดับ


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Lagerstroemia calyculata

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง