ขี้อ้าย

ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ผลัดใบ สูง 5-25 เมตร ลำต้นตรง มีกิ่งย่อยรอบ ๆ ลำต้น กิ่งอ่อนมีขนสั้นนุ่ม โคนต้นมีพูพอนขนาดเล็ก มียางสีแดงส้ม เปลือกต้นเรียบเป็นสีน้ำตาลหรือสีเทา มีรอยแตกตามยาวแบบตื้น ๆ เปลือกด้านในเป็นสีน้ำตาลแดง ใบ เป็นใบเดี่ยว ออกเรียงสลับกันหรือออกเกือบตรงกันข้ามกัน ใบเป็นรูปไข่หรือรูปมนแกมรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนใบมนหรือสอบเข้าหากันเป็นรูปลิ่ม ส่วนขอบใบเรียบ มีต่อมหนึ่งคู่ที่บริเวณขอบใบใกล้ กับโคนใบ ใบกว้าง 3-6 เซนติเมตร และยาว 6-10 เซนติเมตร เนื้อใบบางคล้ายกระดาษ เส้นแขนงใบมีข้างละ 8-10 เส้น ก้านใบเล็กเรียว ยาว 0.5-3 เซนติเมตร ใบอ่อนมีขนสีน้ำตาลหนาอ่อนหนาแน่น ใบแก่จะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและร่วงไป ดอก ออกดอกเป็นช่อแบบช่อแยกแขนง ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง ช่อดอกย่อยเป็นแบบช่อเชิงลด ยาว 2.5-5 เซนติเมตร แต่ละช่อมี 4-5 ดอก ดอกมีสีเหลืองอ่อน มีขนาดเล็ก มีกลิ่นหอม ใบประดับเป็นรูปเส้นด้าย ยาว 1-1.5 มิลลิเมตร กลีบเลี้ยงรูปสามเหลี่ยม โคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ปลายแยกออกเป็น 5 แฉก ไม่มีกลีบดอก ด้านในมีขน มีเกสรเพศผู้ 10 อัน ขนาดยาวเท่า ๆ กลีบเลี้ยง จานฐานดอกขอบหยักมน มีขนยาวหนาแน่น รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ ยาว 0.8-1 มิลลิเมตร มีช่อง 1 ช่อง แต่ละช่องมีออวุล 2-3 เมล็ด ก้านเกสรเพศเมียยาว 2.5-3 มิลลิเมตร ออกดอกในช่วงเดือนมิถุนายน-เดือนสิงหาคม ผล เป็นผลรูปกระสวย ขอบขนาน หรือเบี้ยว ผนังชั้นในแข็ง ผลมีปีกบาง 3 ปีก แต่ละปีกทำมุมเกือบเท่ากัน สีน้ำตาลอ่อน เปลือกเหนียว ผิวเกลี้ยง ผลอ่อนเป็นสีเขียวอมเหลือง ส่วนผลแก่เป็นสีน้ำตาล ผลแก่ไม่แตกออก ขนาดของผลรวมปีกกว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 1.5-2.5 เซนติเมตร ภายในผลมีเมล็ด 1 เมล็ด เมล็ดรูปรีสีขาว ออกผลช่วงเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม สรรพคุณของขี้อ้าย เปลือก เป็นยาบำรุงหัวใจ ยาขับปัสสาวะ ยาแก้ท้องร่วง ใช้ชะล้างบาดแผลเรื้อรังและช่วยห้ามเลือด ผล เป็นยาแก้เสมหะเป็นพิษและยาแก้อุจจาระเป็นมูกเลือด การใช้ประโยชน์ของขี้อ้าย เนื้อไม้ใช้ในการก่อสร้างบ้านเรือน เครื่องเรือน ต่อเรือ และด้ามเครื่องมือกสิกรรม


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Terminalia triptera Stapf.

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง