เท้ายายม่อม / Thahiti arrowroot

เท้ายายม่อม มีการแบ่งต้น เป็นลำต้นใต้ดินและลำต้นเหนือดิน ลำต้นใต้ดิน คือลำต้นจริง ลักษณะทรงกลม แบน เปลือกหัวมีสีขาวในระยะแรก เมื่อแก่จะมีสีน้ำตาลอมขาว มีรากฝอยกระจายทั่วหัว และแตกออกบริเวณโคนต้นจำนวนมาก เนื้อด้านในมีสีขาวขุ่น ส่วนลำต้นเหนือดิน เป็นลำต้นเทียมเจริญโผล่ออกมาจากลำต้นจริง มีลักษณะทรงกลม เปลือกสีเขียว ลายประจุดสีน้ำตาลอมดำกระจายทั่ว ด้านในเป็นเยื่ออ่อน ความสูงราว 0.5-1.5 เมตร มีใบแตกออกทางด้านข้าง ใบ ใบออกเป็นใบเดี่ยว เรียงเวียนเป็นวง มีก้านใบแทงออกจากหัว ก้านใบมีลักษณะกลม ตั้งตรง สีเขียวอ่อน สูงราว 20-170 เซนติเมตร แผ่นใบมีขนาดใหญ่ กว้าง 50-70 เซนติเมตร ยาว 80-120 เซนติเมตร ขอบใบเว้าลึกเป็นแฉกคล้ายรูปฝ่ามือ ปลายแฉกเรียวแหลม ดอก ดอกออกเป็นช่อ มีก้านดอกหลักที่เป็นลำต้นเทียม ยาว 100-170 เซนติเมตร ช่อดอกอยู่ปลายสุด มีดอกย่อย 15-30 ดอก โดยประมาณ มีใบประดับระหว่างดอกย่อยเป็นเส้นทรงกลมยาวสีดำหรือสีม่วงอมน้ำตาล ประมาณ 20-40 อันในหนึ่งช่อดอก เส้นแต่ละเส้นยาวราว 10-20 เซนติเมตร ดอกย่อยเป็นรูปกรวย คล้ายดอกรัก ถูกหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวประด้วยสีดำ ด้านในเป็นกลีบดอกทั้งหมด 5 กลีบ มีสีเหลืองหรือเขียวอมม่วง ข้างในมีเกสรตัวผู้ 6 อัน แผ่เป็นแผ่นที่ปลาย ตรงกลางเป็นก้านเกสรเพศตัวเมีย เกสรส่วนปลายแยกเป็น 3 แฉก ผล ผลทรงกลม ผลดิบมีเปลือกหุ้มสีเขียว มีลักษณะเป็นสันนูนจากขั้วผลลงไปท้ายผล ประมาณ 5-6 สัน ท้ายผลมีกลีบห้อยเป็นติ่ง ผลสุกมีสีเหลือง ขนาดประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ภายในผลมีเปลือกหุ้มแข็ง ด้านในมีเมล็ดรูปไข่สีน้ำตาลหลายเมล็ด สรรพคุณและการใช้ประโยชน์ของเท้ายายม่อม เท้ายายม่อมมีประโยชน์อย่างมากมายทั้งสรรพคุณทางยาหรือประกอบอาหาร ได้แก่ ใช้แก้ไข้ ขับเสมหะ รักษาริดสีดวงทวาร แก้ไส้เลื่อน ทำเป็นแป้งใช้ประกอบอาหาร เช่น ขนมหวานต่าง ๆ ช่วยเจริญอาหาร บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย สมานแผลในกระเพาะอาหาร แก้ท้องอืด แก้ท้องเสีย ใช้ภายนอกโรยแผลเพื่อห้ามเลือด ใช้ทาแก้ผดผื่นคัน ใช้ลดสิวลดฝ้า ทำให้หน้าขาว ทาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย พิษผึ้ง พิษแมงกะพรุนไฟ และผดผื่นแพ้ต่าง ๆ


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze

ชื่อท้องถิ่น = สิงโตดำ, นางนวล, บุกรอ

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง