ตะเคียนหิน / Malut

ต้น เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง 15-30 เมตร เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหรือรูปกรวยแหลมมีสีแดงอ่อนในช่วงผลิใบใหม่ๆ กิ่งอ่อนมีขนประปราย โคนต้นมีพูพอน เปลือกมีสีน้ำตาลแก่และแตกล่อนเป็นสะเก็ด พบในป่าดิบแล้ง ตามที่ลาดเชิงเขา ใบ เป็นใบเดี่ยวเรียงสลับ ใบอ่อนสีแดง แผ่นใบรูปไข่แกมรูปหอก กว้าง 2.5-8.5 เซนติเมตร ยาว 6-8.5 เซนติเมตร ปลายเป็นติ่งทู่ โคนกว้างมนแล้วค่อยๆเรียวขึ้นทางปลาย เนื้อใบบาง เกลี้ยง มันทั้งสองด้าน เส้นแขนงใบมี 8-10 คู่ เป็นเส้นเล็กอ่อน ก้านใบยาว 1–1.3 เซนติเมตร ดอก ออกดอกเป็นช่อสั้นๆตามง่ามใบและปลายกิ่ง ดอกมีขนาดเล็ก สีขาวหรือขาวปนเหลืองอ่อน มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ปลายกลีบแยกเป็น 5 แฉก กลีบดอก 5 กลีบ จีบเวียนเป็นรูปกังหัน ก้านดอกสั้น มีขนนุ่มตามก้านช่อดอก ออกดอกช่วงเดือนกันยายน - เดือนธันวาคม ผลแห้ง มีผิวแข็ง กว้าง 0.3 เซนติเมตร ยาว 1.4 เซนติเมตร ปลายเป็นติ่งแหลม มีขนประปราย มีปีกยาว 2 ปีก กว้าง 1.2 เซนติเมตร ยาว 4 เซนติเมตร รูปขอบขนานแกมรูปไข่กลับ มีเส้นปีก 8 เส้น ออกผลช่วงเดือนตุลาคม - เดือนมกราคม


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Hopea ferra Pierre ex Laness

ชื่อท้องถิ่น = เคียนทราย (ตราด ตรัง) ตะเคียนหนู (นครราชสีมา) เหลาเตา (สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช)

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง

จังหวัด = สตูล