ยางนา / resin tree

ต้น ไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ สูงราว 50 เมตร ไม่ผลัดใบหรือผลัดใบในช่วงสั้น ๆ ลำต้นเปลาตรง เปลือกต้นสีเทาอ่อน เกลี้ยง หลุดลอกเป็นชิ้นกลม มักเป็นพูพอนที่โคนต้น เรือนยอดเป็นทรงพุ่มกลม ทึบ มีขนที่กิ่งอ่อนและยอดอ่อน ใบเดี่ยว เรียงเวียนสลับ รูปไข่แกมรูปขอบขนาน กว้าง 6-14 เซนติเมตร ยาว 12.5-25 เซนติเมตร มีขน ด้านท้องใบมีขนรูปดาวสั้น ๆ ใบหนาและเหนียว ย่นเป็นลอน โคนใบมนและกว้าง ปลายใบสอบทู่ ขอบใบเป็นคลื่นเล็กน้อย ในใบอ่อนมีขนสีเทา ส่วนใบแก่จะเกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง ก้านใบยาว 3-4 เซนติเมตร พบขนได้ประปราย มีหูใบขนาดใหญ่ ดอก ดอกรวมกันเป็นช่อสั้น ๆ แบบช่อกระจะ ช่อละ 4-5 ดอก โดยดอกขนาด 4 เซนติเมตร ออกตามง่ามใบตอนปลายกิ่ง สีชมพูอ่อน โดยดอกมีการเรียงตัวกันหลวม ๆ เป็นช่อห้อยยาวถึง 12 เซนติเมตร มีขนที่ก้านช่อ กลีบดอกมีทั้งหมด 5 กลีบ รูปขอบขนาน ส่วนปลายกลีบมนและบิดเวียน โคนกลีบชิดกัน ชั้นกลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย ประกอบด้วยครีบตามยาว 5 ครีบ ปลายแยกเป็น 5 แฉก เป็นแฉกยาว 2 แฉก และสั้น 3 แฉก และมีขนสีน้ำตาล สั้น ๆ เกสรเพศผู้มีมากกว่า 25 อัน ก้านชูอับเรณูสั้น ปลายอับเรณูมีรยางค์รูปเส้นด้าย ก้านเกสรตัวเมียอ้วน มีร่อง รังไข่มีขน ผลแบบแห้ง รูปกระสวย ยาว 2-2.5 เซนติเมตร มีหลอดกลีบเลี้ยงหุ้มปิดมิด ปีกขนาดใหญ่ 2 ปีก พัฒนามาจากกลีบเลี้ยง กว้าง 2-2.5 เซนติเมตร ยาว 11-15 เซนติเมตร สีแดงอมชมพู โดยเมื่อสุกจะมีสีน้ำตาล มีเส้นปีกตามยาว 3 เส้น ปีกสั้น 3 ปีก ยาวราว 1 เซนติเมตร บริเวณกลางผล มีครีบตามยาว 5 ครีบ เส้นผ่านศูนย์กลางผลขนาด 2.2-2.8 เซนติเมตร ใน 1 ผล จะมี 1 เมล็ด โดยที่เมล็ดจะมีขนสั้นนุ่ม ที่ปลายมีติ่งแหลม


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Dipterocarpus alatus Roxb.ex. G.Don

ชื่อท้องถิ่น = ยางขาว ยางแม่น้ำ ยางหยวก (เหนือ) ยางกุง (เลย) ยางควาย (หนองคาย) ยางตัง (ชุมพร) ยางใต้ ยางเนิน (ภาคตะวันออก) กาตีล ขะยาง จะเตียล จ้อง ชันนา ทองหลัก ยาง เยียง ร่าลอย เห่ง

สถานที่เก็บตัวอย่าง/แหล่งอาศัย/ถิ่นที่อยู่ = ชายฝั่ง

จังหวัด = สตูล