มันปู

มันปู เป็นไม้พื้นเมืองประจำถิ่นภาคใต้ของไทย มีชื่อเรียกหลายอย่าง เช่น แถบชุมพร เรียก ชุมเส็ด พุงหมู แถบตรัง นครศรีธรรมราช เรียก มันปู มันปูใหญ่ นราธิวาส เรียก นกนอนทะเล ทางภาคใต้ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ เช่น สมเส็ด ยอดเทะ เป็นต้น แต่โดยทั่วไปเรียกกันว่า “มันปู” ใบมันปู ยอดมันปู ส่วนที่นิยมนำมาเป็นผัก คือยอดอ่อน ใบอ่อน นำมาเป็นผักสด ลวกจิ้มน้ำพริก ต้มกะทิ รสชาติฝาด มัน คนต่างถิ่นชอบนำมาเป็นผักลวกจิ้มน้ำพริก ผักสดแกล้มลาบ ก้อย พล่า ยำ มีความอร่อยลงตัว


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Glochidion wallichianum Müll. Arg.

หมายเหตุ = ไม้ธรรมชาติ พบขึ้นในป่าดิบชื้น หรือที่ราบแถบเชิงเขา ป่าน้ำกร่อย ป่าพรุ ใบเป็นใบเดี่ยว ก้านใบสั้นเพียงครึ่งเซนติเมตร ออกแบบสลับ 2 ข้างกิ่ง ปลายกิ่งมักห้อยย้อยลง ใบรูปร่างไข่ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม โคนใบมน ผิวใบเรียบออกมันเล็กน้อย หลังใบสีเขียวอ่อนกว่าหน้าใบ ก้านใบยอดอ่อนสีเขียวอ่อน หรือเขียวอมแดง รสฝาด เขาว่ายอดขาวมันอร่อยกว่า ดอกออกเป็นกระจุก หรือเป็นช่อสีเขียวอ่อน แยกเพศอยู่บนต้นเดียวกัน มีกลีบเลี้ยง 6 กลีบ ไม่มีกลีบดอก ผลแก่สีชมพูอมแดง กลมแป้น มีพู 10-12 พู เมื่อแห้งแตกมีเมล็ดเล็กๆ 10-12 เมล็ด เมล็ดมีเยื่อสีแดงหุ้ม ขยายพันธุ์ได้ด้วยเมล็ด ตอนกิ่ง แยกต้นอ่อนจากต้นแม่ หรือตัดชำได้ การใช้ประโยชน์ กินเฉพาะใบอ่อน เป็นผักเครื่องเคียงรสชาติมัน นิยมกินสด มีคุณค่าทางอาหารสูง แก้ร้อนใน ยาบำรุงร่างกายมีสารต้านอนุมูลอิสระ