เท้ายายม่อม

เป็นไม้ล้มลุกอายุหลายปี มีหัวใต้ดินหรือลำต้นจริงสะสมอาหาร รูปร่างกลมแบน หรือรีกว้างเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-4 นิ้ว เปลือกผิวด้านนอกบางผิวเรียบเมื่อหัวยังอ่อนอยู่จะเป็นสีขาว แต่เมื่อแก่แล้วจะเป็นสีน้ำตาล เนื้อในสีขาวใส ส่วนเหนือดินหรือลำต้นเทียมสูงได้ถึง 1.5 เมตร เป็นลำต้นเทียมที่เจริญโผล่ออกมาจากหัวหรือลำต้นจริง มีลักษณะทรงกลม มีเปลือกสีเขียว ประด้วยลายจุดสีน้ำตาลอมดำกระจายทั่ว ด้านในเป็นเยื่ออ่อนแตกใบออกด้านข้าง ใบเป็นใบเดี่ยวออกเรียงสลับ เวียนออกเป็นแนวรัศมี ใบมีขนาดใหญ่และเว้าลึก รูปฝ่ามือ ปลายแยกเป็น 3 แฉก แต่ละแฉกขอบเว้าลึก กว้าง 50-70 เซนติเมตร และยาว 120 เซนติเมตร ก้านใบรวมทั้งกาบใบ ยาว 20-170 เซนติเมตร ปลายใบแหลม ก้านใบทรงกลมสีดำแกมเขียว ดอกออกเป็นช่อ แบบซีรั่ม มีก้านดอกหลักที่เป็นลำต้นเทียม ยาวประมาณ 100-170 เซนติเมตร โดยช่อดอกอยู่ปลายสุด ใน 1 ช่อดอกจะมีดอกย่อยประมาณ 15-40 ดอก ดอกย่อยมีลักษณะเป็นรูปกรวย ถูกหุ้มด้วยกลีบเลี้ยงสีเขียวประด้วยสีดำ ด้านในเป็นกลีบดอก จำนวน 5 กลีบ มีสีเหลืองหรือสีเขียวอมม่วง ภายในมีเกสรตัวผู้ 6 อัน ปลายแผ่นเป็นแผ่น ตรงกลางเป็นก้านเกสรเพศตัวเมีย ปลายเกสรแยกเป็น 3 แฉก ระหว่างดอกย่อยมีใบประดับเป็นเส้นทรงกลมยาวสีดำหรือสีม่วงอมน้ำตาล ประมาณ 20-40 เส้น/ช่อดอก ซึ่งแต่ละเส้นจะยาวประมาณ 10-20 เซนติเมตร ผลมีลักษณะทรงกลมปลายเรียวแหลม ผลดิบมีเปลือกหุ้มผลมีสีเขียว เป็นสันนูนจากขั้วผลลงท้ายผล ประมาณ 5-6 สัน ท้ายผลมีกลีบห้อยเป็นติ่ง ส่วนผลแก่หรือผลสุกมีสีเหลือง โดยมีขนาดผลประมาณ 1.5-3 เซนติเมตร ภายในผลมีเปลือกหุ้มแข็ง ด้านในมีเมล็ดรูปไข่สีน้ำตาลผิวลาย ขนาด 5-8 มิลลิเมตรจำนวนมาก || การใช้ประโยชน์ : ดอก และยอดอ่อน ใช้ลวกเป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือใช้ทำอาหารจำพวกผัดหรือแกงต่างๆ เช่น ผักกะทิเท้ายายม่อม เป็นต้น หัวเท้ายายม่อมสามารถนำมาสกัดทำแป้งเรียกว่าแป้งเท้ายายม่อมใช้เป็นอาหารและสมุนไพรสำหรับคนไข้ที่เบื่ออาหาร อ่อนเพลียได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้แป้งที่สกัดได้จากหัวเท้ายายม่อมยังสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารและทำขนมได้หลายชนิด โดยจะให้ความเข้มเหนียวหนืดและใส โดยอาหารและขนมที่นิยมใช้แป้งเท้ายายม่อมทำหรือใช้เป็นส่วนผสมกับแป้งต่างๆ เช่น ราดหน้า กระเพาะปลา หอยทอด ซุปเห็ด ขนมชั้น ขนมเปียกปูน ลอดช่องกะทิ ข้าวเกรียบปากหม้อ ขนมกะละแม ขนมหัวผักกาด ทับทิมกรอบ บัวลอย เป็นต้น และประโยชน์อีกอย่างหนึ่งจากแห้งเท้ายายม่อม คือ สามารถใช้หมักยีสต์ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ได้อีกด้วย || ส่วนสรรพคุณทางยาจากส่วนต่างๆ ของเท้ายายม่อมที่ได้ระบุไว้ ตามตำรายาต่างๆนั้น ระบุว่า ราก ใช้แก้ไข้ ขับเสมหะ ริดสีดวงทวาร แก้ไส้เลื่อน หัว นำมาทำเป็นแป้ง ใช้ประกอบอาหาร มีสรรพคุณช่วยเจริญอาหาร บำรุงร่างกาย บำรุงหัวใจ แก้อ่อนเพลีย สมานแผลในกระเพาะอาหาร แก้ท้องอืด ท้องเสีย ผงแป้งใช้ภายนอกโรยแผลเพื่อห้ามเลือด ใช้ทาแก้ผดผื่นคัน ใช้ลดสิวลดฝ้า ทำให้หน้าขาว เหง้า ใช้เป็นยาบำรุงกำลัง บำรุงร่างกาย หัวหรือราก ทาแก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย พิษผึ้ง พิษแมงกะพรุนไฟ และผดผื่นแพ้ต่างๆ (อ้างอิง ; https://www.disthai.com)


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Tacca leontopetaloides (L.) Kuntze

สถานที่ = อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

จังหวัด = สตูล

อำเภอ = ละงู

ตำบล = ละงู