มูกเขา

ไม้ต้น สูงได้ถึง 20 ม. น้ำยางสีขาว ใบเรียงตรงข้าม ระหว่างซอกใบมีเยื่อบาง ๆ ใบรูปรีถึงรูปใบหอก ยาว 4–18 ซม. ปลายแหลมยาวหรือยาวคล้ายหาง แผ่นใบหนา เส้นแขนงใบข้างละ 14–30 เส้น เรียงจรดกันเป็นเส้นขอบใน ก้านใบยาว 0.6–1.5 ซม. ช่อดอกแบบช่อกระจุก ยาว 1.5–5.7 ซม. ก้านดอกหนา สั้น กลีบเลี้ยง 5 กลีบ รูปไข่ ยาว 1–2 มม. ปลายแหลมยาว โคนกลีบด้านในไม่มีแผ่นเกล็ด ดอกสีขาว มี 5 กลีบ เรียงซ้อนทับด้านซ้ายในตาดอก ดอกบานรูปดอกเข็ม หลอดกลีบยาว 6–9 มม. ด้านในมีขนสั้นนุ่ม กลีบรูปขอบขนาน ยาว 2–5 มม. เกสรเพศผู้ 5 อัน ติดใกล้ปากหลอด ก้านชูอับเรณูสั้นกว่าอับเรณู ไม่มีจานฐานดอก มี 2 คาร์เพล ปลายเชื่อมติดกันเรียวยาวเป็นก้านเกสรเพศเมีย ยาว 5–6 มม. รวมยอดเกสร ผลคล้ายผลสดติดเป็นคู่ รูปรี ยาว 1.5–3.5 ซม. สุกสีส้ม มี 2 เมล็ด รูปไข่ ยาว 1–1.5 ซม. ไม่มีกระจุกขน พบที่แอฟริกาตะวันออก อินเดีย ศรีลังกา พม่า ไห่หนาน ลาว เวียดนาม คาบสมุทรมลายู และสุมาตรา ในไทยพบทางภาคเหนือที่เชียงราย เชียงใหม่ ตาก ภาคตะวันออกเฉียงใต้ที่จันทบุรี และกระจายทั่วไปทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ และภาคใต้ ขึ้นตามป่าดิบแล้ง และป่าดิบชื้น ความสูงถึงประมาณ 700 เมตร ใบใช้รักษาแผลสด ผลกินได้ เนื้อไม้ใช้ทำตะเกียบ (อ้างอิง ; https://www.dnp.go.th)


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Hunteria zeylanica (Retz.) Gardner ex Thwaites

สถานที่ = อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

จังหวัด = สตูล

อำเภอ = ละงู

ตำบล = ปากน้ำ