ตะเคียนหิน

ไม้ต้นขนาดกลางถึงใหญ่ สูง ๑๕ - ๓๐ เมตร กิ่งอ่อนมีขนประปราย ใบเดี่ยว เรียงสลับ แผ่นใบรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือมน โคนใบรูปลิ่ม มีตุ่มใบตามซอกเส้นแขนงใบ ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง ออกบริเวณซอกใบและปลายกิ่ง ดอกขนาดเล็กสีขาวอมเหลือง กลีบดอกบิดเวียน ผลเปลือกแข็ง เมล็ดเดียว เกลี้ยง รูปทรงคล้ายกระสวย กลีบเลี้ยงขยายเป็นปีกยาว ๒ ปีก| การกระจายพันธุ์ : พบในประเทศลาว กัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย ในประเทศไทยพบทุกภาค บริเวณป่าดิบแล้งและป่าดิบชื้น ประโยชน์ : เนื้อไม้ ทนทานและแข็งแรง ใช้ทำเครื่องเรือน เรือ เสา สะพาน หมอนรางรถไฟ เนื้อไม้ชั้นใน ใช้เข้ายารักษาโรคเลือดลมไม่ปกติ แก้กษัย เปลือก ต้มน้ำใช้ล้างแผลหรือผสมกับเกลืออมเพื่อป้องกันฟันผุ (อ้างอิง : หนังสือองค์ความรู้เรื่องป่าพืช ที่ใช้ประโยชน์ทางภาคเหนือของไทย https://www.qsbg.org/)


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Hopea ferrea Laness.

สถานที่ = อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา

จังหวัด = สตูล

อำเภอ = ละงู

ตำบล = ปากน้ำ