พิกุล

ไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูง 10-25 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มทรงกลมรูปเจดีย์หรือกลมทึบ ใบดกออกหนาแน่น เปลือกต้นสีน้ำตาลอมเทา แตกเป็นร่องตามแนวยาว ทั้งต้นมีน้ำยางสีขาว กิ่งอ่อนและตามีขนสีน้ำตาลปกคลุม ใบเดี่ยว เรียงสลับกันห่างๆ ใบรูปไข่ รูปรีหรือรูปขอบขนาน ใบกว้าง 2-6.5 เซนติเมตร ยาว 5-15 เซนติเมตร ก้านใบยาว 4-6 เซนติเมตร โคนใบมน ปลายใบแหลม เป็นติ่งสั้นๆ ขอบใบเรียบและเป็นคลื่นเล็กน้อย แผ่นใบค่อนข้างหนาและเหนียว สีเขียวสด เรียบเป็นมัน หูใบรูปเรียวแคบ ยาว 3-5 มม. ร่วงง่าย ดอกออกเดี่ยวๆ หรือเป็นกระจุก 2-6 ดอก ตามซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกมีกลิ่นหอม ก้านดอกย่อยยาว 2 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 8 กลีบ เรียง 2 ชั้น ชั้นละ 4 กลีบ กลีบเลี้ยงด้านนอกมีขนสั้นนุ่มสีน้ำตาล รูปใบหอก ปลายแหลม ยาว 7-8 มม. ติดทน กลีบดอกสั้นกว่ากลีบเลี้ยงเล็กน้อย กลีบดอก 8 กลีบ โคนเชื่อมกันเล็กน้อย เส้นผ่านศูนย์กลางดอก 0.8-1.5 เซนติเมตร กลีบดอกแต่ละกลีบจะมีส่วนยื่นออกมาด้านหลัง 2 ชิ้น ซึ่งส่วนที่ยื่นออกมาแต่ละชิ้นนี้จะมีลักษณะ ขนาดและสีคล้ายคลึงกันกับกลีบดอกมาก ทำให้ดูคล้ายกลีบดอกมีทั้งสิ้น 24 กลีบ เรียง 2 ชั้น ชั้นนอกมี 8 กลีบ ชั้นในมี 16 กลีบ กลีบดอกสีขาวนวล มีกลิ่นหอมเย็น กลิ่นยังคงอยู่แม้ตากแห้งแล้ว ดอกร่วงง่าย เมื่อใกล้โรยเป็นสีเหลืองอมน้ำตาล เกสรเพศผู้สมบูรณ์มี 8 อัน อับเรณูรูปใบหอก ยาวกว่าก้านชูอับเรณู และเกสรเพศผู้เป็นหมันมี 8 อัน มีขน รังไข่มี 8 ช่อง ผลสดแบบผลมีเนื้อ รูปไข่ ปลายแหลมสีเขียว กว้างราว 1.5 เซนติเมตร ยาว 2.5-3 เซนติเมตร ที่ขั้วผลมีกลีบเลี้ยงติดคงทน ผลอ่อนสีเขียว มีขนสั้นนุ่ม ผลสุกสีเหลืองถึงสีส้ม มีรสหวานเล็กน้อย รับประทานได้ มีเมล็ดเดียว เมล็ดแบนรี เปลือกแข็ง สีน้ำตาลเข้มหรือดำเป็นมัน ออกดอกติดผลตลอดปี || สรรพคุณ: ตำรายาไทย ดอก มีกลิ่นหอมเย็น ใช้แต่งกลิ่นเครื่องสำอาง เข้ายาหอม ยานัตถุ์ แก้ลม แก้ไข้ บำรุงหัวใจ แก้ปวดหัว แก้เจ็บคอ แก้ร้อนใน ฝาดสมาน แก้ท้องเสีย บำรุงโลหิต แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ดอกพิกุลตามสรรพคุณยาไทย จัดเข้าเครื่องยาพิกัดเกสรทั้ง 5 หรือใช้ผสมกับดอกไม้อื่น ที่มีกลิ่นหอมเพื่อทำบุหงา ผลดิบและเปลือก ฝาดสมาน แก้ไข้ แก้ท้องเสีย เปลือกต้น รสฝาด ใช้ปรุงเป็นยาแก้เหงือกอักเสบ ใบ รสเบื่อฝาด แก้กามโรค แก้หืด ฆ่าพยาธิ เมล็ด ช่วยขับปัสสาวะ รักษาท้องผูก ราก มีรสขมเฝื่อน เข้ายาบำรุงโลหิต แก้เสมหะ แก้ลม แก่น มีรสขมเฝื่อน เข้ายาบำรุงโลหิต ยาแก้ไข้ ขอนดอก เป็นเครื่องยาไทย อาจได้จากต้นพิกุลหรือตะแบกต้นแก่ๆ มีเชื้อราเจริญเข้าไปในเนื้อไม้ แต่โบราณว่าขอนดอกที่ได้จากต้นพิกุลจะมีคุณภาพดีกว่า ขอนดอกมีกลิ่นหอม รสจืด มีสรรพคุณบำรุงตับ ปอด และหัวใจ บำรุงทารกในครรภ์ (ครรภรักษา) ทำให้หัวใจชุ่มชื่น / ตำรายาพื้นบ้านอีสาน ใบ ฆ่าเชื้อกามโรค เปลือก รักษาโรคฟัน กระพี้ แก้เกลื้อน แก่น เป็นยาบำรุงโลหิต รากและดอก ปรุงเป็นยาแก้ลม ขับเสมหะที่เกิดจากลม (อ้างอิง ; https://www.phargarden.com/main.php?action=viewpage&pid=251)


ชื่อวิทยาศาสตร์ = Mimusops elengi L.